ความเข้าใจ

ความเข้าใจในการอ่านเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการอ่านเป็นอย่างยิ่งหรือ
อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหัวใจของการอ่าน ทั้งนี้เพราะจุดประสงค์เบื้องต้นของการอ่านโดยทั่วไปคือ เพื่อความเข้าใจในเรื่องที่อ่าน อ่านแล้วสรุปได้ใจความ ดังนั้นถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจเรื่องที่อ่านก็ทำให้ไม่ทราบว่าผู้เขียนต้องการที่จะสื่ออะไรทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการอ่าน ทั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญทางการอ่านกล่าวถึงความเข้าใจในการอ่านไว้ดังนี้
                                ชวาล   แพรัตกุล (2520 : 134) ได้ให้ความหมายของความเข้าใจว่า เป็นความสามารถในการผสมแล้วขยายความรู้ความจำให้ได้ไกลออกไป จากเดิมอย่างสมเหตุสมผลซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติหลายประการดังนี้ คือ
                                1. รู้ความหมายและรายละเอียดย่อย ๆ ของเรื่องมาก่อนแล้ว
                                2. รู้ความเกี่ยวข้องความสัมพันธ์ระหว่างขั้นและความรู้ย่อย ๆ เหล่านั้น
                                3. สามารถอธิบายสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยภาษาของตนเอง
                                4. เมื่อพบสิ่งอื่นใดที่มีสภาพทำนองเดียวกับที่เคยเรียนรู้มาก่อน ก็สามารถตอบและอธิบายได้
                                ทรงพันธ์   วรรณมาศ (2524 : 2 – 3) ได้แสดงความคิดเห็นว่าการที่ผู้อ่านจะมีความเข้าใจในการอ่านและจับใจความได้นั้น จะต้องสืบเนื่องมาจาการอ่านได้เกิดทักษะ 5 ขั้น ตามลำดับคือ
                                ขั้นที่ 1 อ่านออก เป็นหลักการอ่านเบื้องต้น ตั้งแต่วัยเด็กเริ่มหัดอ่าน ก็จะต้องอ่านออกเสียงให้ถูกต้อง หรือเมื่ออ่านตำราออก เสียงก็ยังเป็นส่วนสำคัญอยู่
                                ขั้นที่ 2 อ่านคล่อง หมายถึง การอ่านในใจ ซึ่งเป็นการอ่านขั้นสูง เพราะเมื่ออ่านออกเสียงเกิดความชำนาญแล้ว การอ่านในใจก็จะตามมา การอ่านประเภทนี้จะต้องกินเวลาในการอ่านสั้น ๆ
                                ขั้นที่ 3 อ่านเข้าใจเรื่อง ได้แก่ การอ่านแล้วได้รับความรู้ใหม่
                                ขั้นที่ 4  อ่านแยกแยะชนิดของข้อความได้ โดยเฉพาะข้อความจริง ข้อคิดเห็น และข้อแสดงอารมณ์
                                ขั้นที่ 5 อ่านแล้วตีความ หรือวินิจฉัยสารได้ ขั้นนี้เป็นขันที่จำเป็นมากที่สุดในการอ่านหนังสือ ซึ่งผู้อ่านจะต้องเข้าใจว่า ผู้เขียนได้ส่งสารอะไรมาให้ผู้อ่านบ้างโดยผู้อ่านต้องพิจารณาเอง
                                บอนด์ และ ทิงเกอร์ (Bond and Tinker,1957 : 235  อ้างใน ภคมน แก้วภรดัย, 2547 : 61)  ได้กล่าวว่า ความเข้าใจในการอ่านมีลำดับ 5 ขั้น ซึ่งมีความสัมพันธ์กันตามลำดับคือ
                                1. ความหมายของคำ เป็นรากฐานของความเข้าใจในการอ่าน ถ้าเข้าใจความหมายของคำศัพท์ชัดเจนและกว้างขวาง ย่อมช่วยให้เข้าใจประโยค และเรื่องราวที่อ่านได้ดี
                                2. หน่วยความคิด เพื่อให้เข้าใจประโยค เด็กจะต้องอ่านเป็นหน่วยความคิด คือ แบ่งอ่านเป็นกลุ่มคำให้ได้ความหมายของคำต่อเนื่องเป็นกลุ่ม ๆ แทนการอ่านทีละคำจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อความเข้าใจในแต่ละประโยค
                                3. การเข้าใจประโยค คือ การเอาหน่วยความคิดย่อยมาสัมพันธ์กันจนได้ความเข้าใจประโยค
                                4. การเข้าใจตอบ คือ ความสามารถในการนำประโยคในตอนนั้น ๆ มาสัมพันธ์กันจึงอ่านได้เข้าใจดีขึ้น
                                5. การเข้าใจเรื่องราว เพื่อที่จะให้เข้าใจเรื่องราว หรือ ข้อความที่อ่าน จะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างข้อความสำคัญ ๆในแต่ละตอน
                                สรุปได้ว่า การที่จะอ่านให้เข้าใจได้นั้น ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น คือ อ่านออกเสียง คล่องแคล่ว อ่านแล้วเข้าใจเรื่องราวได้ตรงกับความต้องการ สามารถ แยกแยะ ดีความ และวินิจฉัยในเรื่องที่อ่านได้ถูกต้อง