ทฤษฏี

เตือนใจ   ตันงามตรง ( 2529 : 94 – 108 อ้างถึงใน ภคมน   แก้วภราดัย, 2547 : 36 ) ได้
สรุปคำอธิบายเกี่ยวกับทฤษฏีการอ่าน ที่คาร์เรล   และ อีสเดอร์โฮลด์ ( Carrel and Eisterhold,1983 )ได้กล่าวไว้ 2 ทฤษฏี คือ ทฤษฏีการอ่านแนววิทยาศาสตร์ และทฤษฏีโครงสร้างความรู้ดังนี้
                         ทฤษฏีการอ่านแนววิทยาศาสตร์ มีแนวคิดว่า ความเข้าใจในการอ่านเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างความรู้เดิมและความรู้ทั่วไปของผู้อ่าน การอ่านแนวนี้ยึดผู้อ่านเป็นศูนย์กลาง ความรู้ใหม่จะมีความหมายก็ต่อเมื่อสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับสิ่งที่อ่านได้เรียนรู้มาแล้วทฤษฏีนี้ได้รับอิทธิพลมาจากแนวความคิดของนักจิตวิทยาภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กูดแมน( Goodman ) ได้อธิบายว่า ผู้อ่านได้พยายามสร้างข้อความขึ้นใหม่จากข้อความเดิมที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ในเรื่อง การสร้างความหมายของผู้อ่านเป็นกระบวนการวัฏจักร คือ การกระทำสุ่มข้อความ การเดาเรื่อง การทดสอบว่าสิ่งที่ผู้อ่านคิด หรือเดาล่วงหน้าไว้ก่อนนั้นถูกต้องกับเรื่องที่อ่านหรือไม่ถ้าไม่ตรงตามความคิดก็เปลี่ยนแนวทางการคิดใหม่ กระบวนการลักษณะนี้จะดำเนินการไปเรื่อย ๆ ในขณะที่อ่าน
                         ทฤษฏีโครงสร้างความรู้ (The Schema Theory) ( ฉัตรสุดา  ดวงพลอย, 2526 : 1 – 15 ) ทฤษฏีนี้มีหลักสำคัญประการหนึ่งคือ ข้อความใด ๆ ไม่ว่าเป็นการพูดหรือการเขียนไม่ได้สื่อความหมายด้วยตัวของข้อความเอง แต่ข้อความนั้นเป็นการเตรียมแนวทางสำหรับผู้ฟังหรือผู้อ่านได้สร้างความหมายของข้อความ โดยอาศัยความรู้เดิมในเรื่องที่อ่านที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นความรู้ที่ผู้อ่านได้เรียนรู้มาก่อน ดังนั้นความเข้าใจในเรื่องการอ่านตามทฤษฏีดังกล่าว จึงเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างความรู้เดิมของผู้อ่านและข้อความที่อ่าน
                         นอกจากนั้น ทฤษฏีโครงสร้างความรู้ยังได้กล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
                         1. วิธีจัดระเบียบความรู้ในสมองของคนเรา
                         2. วิธีการรับเอาความรู้ใหม่เข้าไปรวมกับความรู้เดิม
                         3.  วิธีการดัดแปลงปรับปรุงแก้ไขความรู้เดิมให้เหมาะสม
                         สคีมา ( Schema ) หมายถึง การบรรยายเกี่ยวกับความรู้ ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างความรู้ที่ผู้อ่านมีอยู่เดิมแล้วที่เรียงรายกันอยู่เป็นลำดับชั้น จัดเป็นกลุ่มตามคุณสมบัติที่กล้ายคลึงกันมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน กลุ่มโครงสร้างความรู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการอ่าน คือ เป็นสิ่งชี้นำเรื่องให้กับผู้อ่าน และจัดโครงสร้างเรื่องไว้สำหรับเรื่องใหม่ ในขณะที่ผู้อ่านอ่านเรื่อง เรื่องเหล่านี้จะบรรจุในโครงสร้างความรู้เดิมที่จัดไว้ โดยที่โครงสร้างความเดิม ( Schemata ) นี้สร้างขึ้นมาจากประสบการณ์เดิมของผู้อ่านและเป็นเครื่องชี้แนะผู้อ่านในขณะที่ต้องการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ทั้งยังช่วยผู้อ่านคาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ในเรื่องด้วย ผู้อ่านจะนำโครงสร้างความรู้เดิมนี้ไปใช้ประกอบการอ่าน ซึ่งมีความสำคัญต่อความเข้าใจในการอ่านมากกว่าโครงสร้างภาษาและกระบวนการทางภาษาที่ใช้ในข้อเขียน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าความเข้าใจในการอ่านตามทฤษฏีโครงสร้างความรู้ ต้องประกอบขึ้นด้วยความรู้ทางภาษา ความรู้ทั่ว ๆ ไป และปริมาณความรู้เดิมเหล่านั้นได้รับการกระตุ้นให้ทำงานในขณะที่กระบวนการทางสมองกำลังดำเนินการอยู่
                         โครงสร้างความรู้เดิมแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ
                         1. โครงสร้างความรู้เดิมแบบรูปนัย ( Formal Schemata ) หมายถึง การที่ผู้อ่านมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะลีลาการเขียนและโครงสร้างของเรื่องมาก่อน เช่น การเขียนเชิงบรรยาย นิทาน วิทยาศาสตร์ หนังสือพิมพ์ ถ้าผู้อ่านมีความรู้สึกไวต่อลักษณะโครงสร้าง การเขียน และ รู้จักใช้ความรู้เดิมเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในขณะที่อ่าน จะช่วยอย่างมากทางด้านความเข้าใจ และ ความจำ ลักษณะของการเขียนเรื่องราวจะแตกต่างกันไป และมีโครงสร้างการเขียนของแต่ละรูปแบบ เช่น นิทาน การบรรยาย การพรรณนา เป็นต้น และในบรรดาโครงสร้างทั้งหมด โครงสร้างเกี่ยวกับการเขียนเชิงบรรยายค่อนข้างจะง่ายและเป็นที่คุ้นเคยกันมากจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นโครงสร้างแบบสากล เพราะลักษณะการเขียนประเภทนี้มักจะไม่ค่อยมีวัฒนธรรมของแต่ละชาติเข้าไปแทรกแซงได้เหมือนลักษณะการเขียนประเภทอื่น ๆ ผู้อ่านส่วนมากมักจะมีโครงสร้างความรู้เดิมเกี่ยวกับการเขียนบรรยายมาก่อน การอ่านจึงไม่มีปัญหา
                         2. โครงสร้างความรู้เชิงเนื้อหา ( Content Schemata )  การที่ผู้อ่านมีความรู้เดิมเกี่ยวกับเนื้อหาของเรื่องในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งมาก่อน จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจดีขึ้น ผู้อ่านมีโครงสร้างความคิดแจนงนี้จะรับเรื่องได้เร็วกว่าผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์หรือความรู้ทางเนื้อหานี้มาก่อน
                         ในระดับประถมศึกษา นักเรียนควรมีโครงสร้างความรู้ทั้งสองประเภท เพราะการมีความรู้เชิงเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องใด ๆ มาก่อนจะช่วยเพิ่มความสามารถเกี่ยวกับการเดาเรื่องได้ดีขึ้น และถ้ามีความรู้เดิมเกี่ยวกับรูปลักษณะการเขียนจะได้เปรียบในการอ่าน ซึ่งสามารถเข้าใจเรื่องได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้สอนจึงควรจัดเสริมปัจจัยดังกล่าวให้กับผู้เรียนที่ยังขาดโครงสร้างทั้งสองประเภทให้สมบูรณ์
                         รูปแบบการรับความรู้ใหม่เข้ากับโครงสร้างความรู้เดิม
                         1. รูปแบบการประมวลความจากฐานขึ้นไปสู่ยอด ( Bottom – Up Model ) การประมวลความในลักษณะนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า รูปแบบการขับข้อมูล ( Data – Friven Model ) ผู้อ่านจะเข้าใจได้โดยการรับข้อมูลเข้ามา ข้อมูลเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมกับโครงสร้างการเรียนรู้เดิมระดับพื้นฐาน โครงสร้างความรู้เดิมเหล่านี้ จะจัดเรียนเป็นขั้น ๆ ไป โครงสร้างความรู้เดิมจะกลายเป็นโครงสร้างการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจง และยิ่งถัดขึ้นไป ความรู้เหล่านี้จะเปิดกว้างทั่วไปยิ่งขึ้น
                         รูปแบบการอ่านลักษณะนี้ ผู้อ่านต้องไวต่อข้อความใหม่หรือข้อความที่ผิดแผกจากเรื่องที่คาดคิดไว้ก่อน แต่อย่างไรก็ตามความล้มเหลวในการอ่านอาจเกิดขึ้นได้เนื่องจาก ผู้อ่านไม่สามารถใช้ความรู้เดิมที่เหมาะสมได้ จึงทำให้ไม่เข้าใจเรื่องอันมีเหตุผลมาจาการที่ผู้เขียน ไม่ได้จัดให้มีเครื่องชี้แนะ (Cue) เพียงพอสำหรับผู้อ่านที่ใช้ในการประมวลความจากฐานไปยอดรวมทั้งผู้อ่านยังขาดความรู้เดิมที่เหมาะสมกับเรื่องราวที่ผู้แต่งได้สร้างขึ้นจากความนึกคิดของตน
                         การจัดระเบียบความหมายลักษณะนี้ ต้องมีความเชื่อว่า ความหมายซ่อนอยู่ในตัวอักษรที่รวมกันขึ้นมาเป็นข้อความหรือความหมาย ดังนั้นการสอนจึงต้องเน้นเกี่ยวกับส่วนประกอบของภาษา เช่น ศัพท์ที่มีอยู่ในเรื่อง ซึ่งจะเป็นเครื่องชี้นำเนื้อหาของเรื่องได้
                         2. รูปแบบการประมวลความจากยอดลงมาฐาน ( Top – Dowm Model ) หรือเรียกอีกอย่างว่า การผลักดันความคิด ( Conceptually Driven ) รูปแบบนี้เน้นการสร้างความหมายมากกว่าการถ่ายทอดความหมายจากตัวเรื่อง ภายใต้รูปแบบนี้ การอ่าน หมายถึง การโต้ตอบระหว่างผู้อ่านและเรื่องที่อ่านซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางของกระบวนการ และผู้อ่านได้นำความรู้เดิมเกี่ยวกับเรื่องภาษา สิ่งเร้า ความหมายจะอยู่ในตัวผู้อ่าน ดังนั้นผู้อ่านต้องเป็นผู้กระทำ คือ เป็นผู้สร้างความหมายใหม่ ส่วนประกอบนี้ที่สำคัญของการประมวลความรู้แบบนี้ ได้แก่ ความสนใจ สิ่งเร้า และความรู้เดิม
                         สิ่งที่สำคัญประการหนึ่งของรูปแบบประมวลจากฐานไปยอดและรูปแบบการประมวลความจากยอดลงมาฐาน คือ การประมวลความทั้ง 2 แบบ ควรจะเกิดขึ้นพร้อมกันไปในทุก ๆ ระดับ ข้อมูลที่ได้รับเข้ามาใหม่จำเป็นต้องถูกต่อเติมให้สมบูรณ์โดยผ่านกระบวนการของรูปแบบการประมวลความจากฐานขึ้นไปยอด และกระบวนการของรูปแบบการประมวลความจากยอดลงมาฐาน จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจสิ่งที่อ่านได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ถ้าเรื่องนั้นตรงกับการคาดการณ์ทางความคิด รูปแบบการประมวลความจากฐานขึ้นไปยอด จะช่วยให้ผู้อ่านมีความว่องไวต่อความรู้ใหม่ที่แปลกหรือไม่ตรงต่อข้อสมมติฐานเกี่ยวกับเนื้อหาโครงสร้างของเนื้อหาที่ผู้อ่านมีอยู่ ส่วนรูปแบบการประมวลความจากยอดลงมาฐานจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถแก้ปัญหาในการตีความสิ่งที่กำกวมอยู่หรือช่วยให้สามารถเลือกตีความข้อมูลที่รับเข้ามาใหม่ตามทางเลือกที่เป็นไปไดอย่างถูกต้อง