Friday, March 18, 2011

ความหมายของการอ่าน

       
                      การอ่านเป็นทักษะที่สำคัญในการสอนภาษาไทย เป็นความสามารถของมนุษย์ที่เข้าใจการสื่อความหมายของสัญลักษณ์ต่าง ๆ เข้าใจในเนื้อเรื่อง และแนวความคิดจากสิ่งที่อ่าน ดังนั้นจึงได้มีนักการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการอ่าน ทั้งชาวไปและต่างประเทศได้ให้ความหมายของการอ่านดังนี้
                         การอ่าน หมายถึง การเสาะแสวงหาความรู้ การอ่านทำให้เป็นบุคคลมีวิสัยทัศน์กว้างไกลทำให้เกิดกระบวนการและทักษะในการดำเนินชีวิต ความหมายของการอ่านนั้นได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายอย่างดังนี้
                         การอ่าน คือ ว่าตามตัวหนังสือ ถ้าออกเสียงด้วย เรียกว่า อ่านออกเสียง ถ้าไม่ต้องออกเสียง เรียกว่า อ่านในใจ สังเกตหรือพิจารณาดูเพื่อให้เข้าใจ เช่น อ่านสีหน้า อ่านริมฝีปาก อ่านในใจ ตีความ เช่น อ่านรหัส อ่านลายแทง คิด นับ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 : 1364)
                         สุนันทา  มั่นเศรษฐ์วิทย์ (2540, : 2) ได้ให้ความหมายของการอ่านว่าการอ่านหมายถึง การเสาะแสวงหาความรู้นอกเหนือจากการสอนในห้องเรียนที่ครูให้และตัวของผู้อ่านนั้นได้มีการจดจำในเรื่องราวที่อ่านและนำมาคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ออกมาตามความเข้าใจของผู้อ่าน ถ้าพิจารณาในลักษณะของกระบวนการ การอ่านคือลำดับขั้นที่เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจความหมายของกลุ่มคำ ประโยค ข้อความและเรื่องราวของสารที่ผู้อ่านสามารถบอกความหมายได้ แต่ถ้าพิจารณาในลักษณะของกระบวนการที่ซับซ้อนแล้วก็จะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบหลายอย่างได้แก่ จิตวิทยาพัฒนาการ ภาษาศาสตร์ จิตวิทยาการศึกษา และวิชาการศึกษาส่วนที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาพัฒนาการนั้น หมายความว่า ครูสอนอ่านจะต้องเข้าใจหลักจิตวิทยา
                         ประภัสสร   ปันสวน (2547 : 6 ) ได้มีความเห็นถึงความหมายของการอ่าน ว่าการอ่านเป็นความสามารถที่จะเข้าใจความหมายที่เขียนมาแต่ละบรรทัดซึ่งผู้อ่านไม่ต้องไปสนใจกับรายละเอียดแต่จะต้องจับใจความสำคัญจากกลุ่มซึ่งสื่อความหมายา
                         จิราพร  คำด้วง (2546 : 7) ได้ให้ความหมายของการอ่านว่า การอ่านเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ยั่งยืนที่สุด การอ่านทำให้เป็นคนทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ ทำให้ปรับตัวเข้ากับสังคมเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
                         วาสนา   บุญสม (2541 : 12) และกัลยา  ยวนมาลัย (2539 : 8) ได้ให้ความหมายของการอ่านในแนวใกล้เคียงว่า คือ การพยายามทำความเข้าใจความหมายของตัวอักษร ถ้อยคำเครื่องหมายต่าง ๆ ออกมาเป็นความคิดความเข้าใจแล้วนำความคิดความเข้าใจมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ดังนั้นหัวใจของการอ่านอยู่ที่การทำความเข้าใจความหมายของคำ
                         นิตยา  ประพฤติกิจ (2532 : 1) ได้ให้ความหมายของการอ่านไว้ว่า การอ่านเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการศึกษาทุกสาขาวิชาและการอ่านจะทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียน
                         บันลือ   พฤษะวัน (2532 : 2) ได้ให้ความหมายการอ่านไว้ดังนี้
                         1. การอ่าน เป็นการแปลสัญลักษณ์ออกมาเป็นคำพูด โดยการผสมเสียงเพื่อใช้ในการออกเสียงให้ตรงกับคำพูด การอ่านแบบนี้มุ่งให้สะกดตัวผสมคำอ่านเป็นคำ ๆ ไม่สามารถใช้สื่อความโดยการฟังได้ทันที เป็นการอ่านเพื่อการอ่านออก มุ่งให้อ่านหนังสือได้แตกฉานเท่านั้น
                         2. การอ่าน เป็นการใช้ความสามารถในการผสมผสานของตัวอักษร ออกเสียงเป็นคำหรือเป็นประโยค ทำให้เข้าใจความหมายในการสื่อความโดยการอ่าน หรือฟังผู้อื่นอ่านแล้วรู้เรื่องเรียกว่า อ่านได้ ซึ่งมุ่งให้อ่านแล้วรู้เรื่องสิ่งที่อ่าน
                         3. การอ่าน เป็นการสื่อความหมายที่จะถ่ายโยงความคิดความรู้จากผู้เขียน ถึงผู้อ่าน การอ่านลักษณะนี้เรียกว่า อ่านเป็น ผู้อ่านย่อมเข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียน โดยอ่านแล้วสามารถประเมินผลของสิ่งที่อ่านได้
                         สมพร    มันตะสูตร แพ่งพิพัฒน์ ( 2538 : 8 )  กล่าวว่า การอ่าน คือ การับรู้ความหมายจากถ้อยคำที่ตีพิมพ์อยู่ในสิ่งพิมพ์ หรือ หนังสือ โดยผู้อ่านรับรู้ว่าผู้เขียนได้ส่งสารอะไรมายังผู้อ่านทั้งในด้านความคิด ความรู้ ความหมาย ความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นว่าผู้เขียนตั้งใจจะแสดงความคิดอย่างไร มีความหมายว่ากระไร เกี่ยวข้องถึงอะไรบ้าง ลำดับขั้นของการอ่านจะเริ่มต้นตั้งแต่การทำความเข้าใจในถ้อยคำแต่ละคำ กลุ่มคำแต่ละกลุ่ม และเรื่องราวแต่ละเรื่องราวที่เรียงรายต่อเนื่องกันอยู่ในย่อหน้าหนึ่ง หรือในตอนหนึ่ง หรือในเรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้อ่านต้องทำความเข้าใจไปทีละตอนเป็นลำดับ
                         ประเทิน   มหาขันธ์ (2530 : 13) ได้ให้ความหมายการอ่านไว้ว่า เป็นกระบวนการในการแปลความหมายของตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ที่มีการจดบันทึกไว้ การอ่านที่แท้จริงผู้อ่านจะต้องเข้าใจความหมายของเรื่องที่อ่าน ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์เดิมเป็นพื้นฐานด้วย
                         ฉวีลักษณ์  บุณยะกาญจน์ (2535 : 3) ได้ให้ความหมายของการอ่านว่า เป็นการคิดที่สามารถเข้าใจในเรื่องที่อ่านได้ดี ย่อมนำไปสู่การคิดที่ดี เพราะผู้อ่านจะได้ทราบแนวคิดต่าง ๆ จากเรื่องที่อ่าน เกิดความรู้จากเรื่องที่อ่านนำมาจัดแยกแยะตีความหมาย ก่อนที่จะเกิดเป็นแนวคิดของตนเอง
                         สมพร     วัฒนศิริ (2538 : 9 10  ) กล่าวว่า การอ่านเป็นกระบวนการติดต่อสื่อสารความคิดจากผู้เขียนไปสู่ผู้อ่าน เป็นการแปลความหมายตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นสื่อกลางใช้แทนคำพูดให้ได้ความแจ่มแจ้งชัดเจนและเข้าใจความหมายสิ่งที่อ่าน โดยสัมพันธ์กับประสบการณ์เกิดของผู้อ่าน
                         บัวแก้ว   บัวเย็น (2539 : 15 ) กล่าวว่า การอ่านคือ การถ่ายทอดความหมายจากตัวอักษรหรือภาพเป็นความคิดความเข้าใจของผู้อ่านและนำความคิดนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อ่านเอง
                         ทัศนีย์    ศุภเมธี  (2542 : 24) กล่าวว่า การอ่าน คือ การแปลสัญลักษณ์ที่เขียนหรือพิมพ์ให้มีความหมายออกมา สัญลักษณ์ในภาษาไทย คือ คำ ข้อความ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการสอนอ่านเพื่อนักเรียนจะต้องเข้าใจความหมายและนำไปใช้ในการฟัง พูด และเขียนได้อย่างถูกต้อง
                         ประสารพร   ชนะศักดิ์ (2542 : 10) กล่าวว่า การอ่าน คือ กระบวนการในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร โดยใช้สัญลักษณ์เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอด และการที่ผู้อ่านจะเข้าใจเรื่องราวตามเจตนารมณ์ของผู้เรียนเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถทางภาษา ประสบการณ์ สิ่งแวดล้อม และทัศนคติของผู้อ่าน
                         ฉวีวรรณ   คูหาภินันท์ (2542 : 1 ) กล่าวว่า การอ่าน คือ ความเข้าใจสัญลักษณ์ เครื่องหมาย รูปภาพ ตัวอักษร คำและข้อความที่พิมพ์หรือเขียนขึ้นมา
                         แลปป์  ( Lapp, 1968 : 463) ได้ให้ความหมายของการอ่านว่า การอ่านเป็นกระบวนการรับรู้อักษร ความหมายของคำ ตีความของข้อเขียนมาเป็นความเข้าใจ ขั้นตอนแรกของการอ่าน คือ เพื่อสื่อความหมาย กระบวนการของการอ่าน คือ รับรู้ตัวอักษะ รู้จุดมุ่งหมาย สามารถสื่อความหมายของข้อความนั้น และสร้างปฏิกิริยาตอยสนองกับความรู้ใหม่ที่ได้จากข้อเขียนซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้อ่าน
                         ดี แลบ และเจ ฟลอด (D. Lapp and J. Flood, อ้างถึงใน สุนันทา  มั่นเศรษฐวิทย์,2537 : 2 ) ให้คำจำกัดความของการอ่านว่า เป็นกระบวนการที่ผู้อ่านแปลความ คำ หรือสัญลักษณ์ที่เป็นตัวอักษรให้เข้าใจ ซึ่งขั้นตอนของกระบวนการนี้มี 3 ระดับ คือ
                         ระดับที่ 1  การรับรู้ตัวอักษร คำ ประโยค และข้อความ
                         ระดับที่ 2 การแปลความหมายของคำ ประโยคและข้อความ
                         ระดับที่ 3 การทำความคุ้นเคยกับข้อมูลที่ได้ใหม่ โดยใช้ประสบการณ์เดิมหรือ ความรู้เดิมช่วยในการตัดสินใจ

                         ชำเรือง  พัชทรชนม์ (2525 : 11 ) มีความเห็นในความหมายของการอ่านว่า การอ่านเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและมีความสำคัญต่อการพัฒนาถาวร และความอยู่รอดของมนุษย์จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรฝึกทักษะและกระบวนการอ่าน        
                         จากความคิดดังกล่าวสรุปได้ว่าการอ่านนั้นหมายถึง กระบวนการตีความหมายลายลักษณ์อักษรจากการที่ผู้เขียนได้มีการถ่ายทอดมาให้แล้วนำมาแปรเป็นความคิด ทำให้มีความเข้าใจ มีความรู้จากการอ่าน และสามารถนำประโยชน์ที่ได้จากการอ่านมาใช้ในการดำรงชีวิต